เมื่อวิเคราะห์ดูจากบันทึกในตำนานสิงหนวัติแล้ว เชื่อได้ว่าเมืองแม่สายในปัจจุบันนี้ แต่เดิมคือ "เมืองเวียงศรีทวง" หรือ "เวียงสี่ตวง" ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า "เวียงพานคำ" ตามขื่อของช้างที่พระพรหมกุมารใช้เป็นพาหนะในการออกสู้รบกับพระยาขอมจนได้รับชัยชนะ และในปัจจุบันตัวเมืองแม่สาย รวมทั้งอาคารที่ว่าการอำเภอแม่สายนั้น ตั้งอยู่ที่ ต.เวียงพางคำ ซึ่งคาดว่าเพื้ยนมาจาก "เวียงพานคำ" นั่นเอง นอกจากนี้ในพื้นที่หมู่ 3 ต.เวียงพางคำ ยังมีบ้านเวียงพาน และวัดเวียงพาน ตั้งอยู่อีกด้วย อนึ่ง ตัวคูเมืองเดิมนั้นมีให้พบเห็นอยู่ทั่วไปในเขตชุมชนเมืองแม่สาย และยังคงมีประโยชน์ในการรับน้ำที่ไหลบ่ามาจากเทือกเขาด้านตะวันตกมิให้ไหลเข้ามาท่วมบริเวณตัวเมืองอีกด้วย ประกอบกับในตำนานยังได้กล่าวย้ำถึงสถานที่ตั้งของเมือง "เวียงสี่ตวง" ว่าอยู่ทิศตะวัตตกเฉียงเหนือของเวียงโยนกนครฯ (อ.เชียงแสนในปัจจุบัน) ริมแม่น้ำใส ซึ่งก็คือแม่น้ำสาย ในปัจจุบันนั่นเอง.
แม่สายเมื่อ 60 ปีที่แล้ว เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ติดชายแดนไทยพม่า (ประเทศพม่าปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสาธารณรัฐสหภาพเมียนม่าร์) ที่ท่าขี้เหล็กเงียบสงบไม่พลุกพล่านเช่นปัจจุบัน
แต่เดิมบริเวณแม่สายเป็นหมู่บ้านเวียงพานเขตปกครองของตำบลแม่สาย อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงรายได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอแม่สายขึ้นกับอำเภอแม่จันในปี 2481 ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2493 ได้ยกฐานะเป็นอำเภอแม่สายโดยได้ทำการเปิดอาคารที่ว่าการอำเภอหลังแรก เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2494
เดิมเทศบาลตำบลแม่สายมีฐานะเป็นสุขาภิบาลโดยประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 14 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2499 และได้รับการยกฐานะเป็นสุขาภิบาลที่มีฐานะการคลังเพียงพอที่จะบริหารซึ่งประธานมาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2536
ต่อมาได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะจากสุขาภิบาลเป็นเทศบาลตำบล เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ตามพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงฐานะจากสุขาภิบาลเป็นเทศบาลตำบล พ.ศ. 2542 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 9 ก ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 |